วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล
            โครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ภาษาหรือการใช้ภาษา เราพูดเป็นประโยคที่มีใจความสมบูรณ์และสื่อสารกันรู้เรื่องเพราะเราเข้าใจโครงสร้างของภาษา  ถ้าเราไม่รู้หรือไม่เข้าใจโครงสร้างของภาษานั้น  เราจะล้มเหลวในการสื่อสาร 
            ในการแปลไทยเป็นอังกฤษผู้แปลมกพยายามค้นหาคำศัพท์ในภาษาอังกฤษที่เทียบเท่ากับภาษาไทย  ถ้าหากได้ก็คิดว่าไม่มีปัญหา  ถ้าหากไม่ได้ก็คิดว่ามีปัญหา  นั่นคือส่วนหนึ่งของปัญหาในการแปล  ซึ่งปัญหาที่สำคัญและลึกซึ้งกว่านั้นคือ  ปัญหาทางโครงสร้าง ถึงแม้นักแปลจะรู้คำศัพท์แต่ละคำในประโยคแต่หากไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของคำศัพท์เหล่านั้นก็มีโอกาสล้มเหลวได้  เพราะอาจตีความผิดหรือหรือถ่ายทอดเป็นภาษาเป้าหมายที่ผิดได้  เช่น  ถ้าไม่เข้าใจโครงสร้างของประโยคกรรมในภาษาที่ตนแปลอาจตีความผิดเป็นประโยคกรรตุทำให้ความหมายเป็นตรงกันข้าม  ความผิดเช่นนี้พบได้บ่อยในหน่วยสร้างอื่นๆด้วย
1.ชนิดของคำและประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญ
ชนิดของคำ (parts of speech) เป็นสิ่งสำคัญในโครงสร้าง  เพราะเมื่อเราสร้างประโยคเราต้องนำคำมาเรียงร้อยกันให้เกิดความหมายที่ต้องการสื่อสาร  ประโยคจะถูกไวยากรณ์เมื่อเราใช้ชนิดของคำตรงกับหน้าที่ทางไวยากรณ์
ประเภททางไวยากรณ์ (grammatical category) หมายถึงลักษณะสำคัญในไวยากรณ์ของภาษาใดภาษาหนึ่ง  ซึ่งมักสัมพันธ์กับชนิดของคำ
1.1         คำนาม
เมื่อเปรียบเทียบคำนามในภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ  พบว่าประเภททางไวยากรณ์ที่เป็นลักษณะสำคัญหรือลักษณะที่มีตัวบ่งชี้ในภาษาอังกฤษแต่เป็นลักษณะที่ไม่สำคัญหรือไม่มีตัวบ่งชี้ในภาษาไทย
1.1.1          บุรุษ (person) เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งบอกว่าคำนามหรือคำสรรพนามที่นำมาใช้ในประโยคหมายถึงผู้พูด (บุรุษที่1) ผู้ที่ถูกพูดด้วย (บุรุษที่2) หรือผู้ที่ถูกพูดถึง (บุรุษที่3)
1.1.2          พจน์ (number) เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งบอกจำนวน ว่าเป็นจำนวนเพียงหนึ่งหรือจำนวนมากกว่าหนึ่ง  ในภาษาอังกฤษมีการบ่งชี้พจน์ แต่ในภาษาไทยไม่มีการบ่งชี้
1.1.3          การก (case) คือประเภททางไวยากรณ์ของคำนามเพื่อบ่งชี้ว่าคำนามนั้นเล่นบทบาทอะไร  สัมพันธ์กับคำในประโยคอย่างไร ภาษาต่างกันมรการแสดงการกด้วยวิธีต่างกัน  ในภาษาอังกฤษการกของคำนามมักแสดงโดยการเรียงคำ  ในภาษาไทยไม่มีการเติมหน่วยท้ายคำเพื่อแสดงการก แต่ใช้การเรียงคำเหมือนกับการกประธานและการกกรรมในภาษาอังกฤษ
1.1.4          นามนับได้กับนามนับไม่ได้ (countable and uncountable nouns) คำนามในภาษาอังกฤษต่างจากภาษาไทยในเรื่องการแบ่งเป็นนามนับได้และนามนับไม่ได้ ในภาษาไทยคำนามทุกคำนับได้  เพราะมีลักษณะนามบอกจำนวนของทุกสิ่งได้  ส่วนในภาษาอังกฤษมีการใช้หน่วยบอกปริมาณหรือปริมาตรกับคำนามที่นับไม่ได้ทำให้เป็นหน่วยเหมือนนับได้
1.1.5          ความชี้เฉพาะ (definiteness) เป็นประเภททางไวยากรณ์อีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญในภาษาอังกฤษแต่ไม่สำคัญในภาษาไทย  ได้แก่  การแยกความแตกต่างระหว่างคำนามชี้เฉพาะและคำนามไม่ชี้เฉพาะ  ในภาษาอังกฤษ a/an บ่งบอกถึงการไม่ชี้เฉพาะ (indefiniteness) และ the บ่งบอกถึงการชี้เฉพาะ (definiteness)
1.2         คำกริยา
เป็นหัวใจสำคัญของประโยค  การใช้กริยาซับซ้อนกว่าคำนาม  เพราะมีประเภททางไวยากรณ์ต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องหลายประเภท  มีการแยกความแตกต่างระหว่างกริยาแท้กับกริยาไม่แท้
1.2.1          กาล (tense) คำกริยาในภาษาอังกฤษต้องแสดงกาลเสมอว่าเป็นอดีตหรือไม่ใช่อดีต
1.2.2          การณ์ลักษณะ (aspect) หมายถึงลักษณะของการกระทำหรือเหตุการณ์  เช่น  การการดำเนินอยู่ของเหตุการณ์  การเสร็จสิ้นของการกระทำ  การเกิดซ้ำของเหตุการณ์
1.2.3          มาลา (mood) เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่ใช้กับคำกริยา  มีหน้าที่แสดงว่าผู้พูดมีทัศนคติต่อเหตุการณ์หรือเรื่องที่พูดอย่างไร  ในภาษาไทยมาลาแสดงโดยกริยาช่วยหรือวิเศษณ์เท่านั้น  ไม่ได้แสดงโดยการเปลี่ยนรูปกริยา  ภาษาอังกฤษมาลาแสดงโดยการเปลี่ยนกริยาหรือกริยาช่วย
1.2.4          วาจก (voice) เป็นประเภททางไวยากรณ์ที่บ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างประธานกับการกระทำที่แสดงโดยคำกริยา  ว่าประธานเป็นผู้กระทำหรือประธานเป็นผู้ถูกกระทำ  ในภาษาอังกฤษ ประโยคส่วนใหญ่จะมีกริยาเป็นกรรตุวาจก  ในภาษาไทย คำกริยาไม่มีการเปลี่ยนรูปเพื่อแสดงกรรตุวาจก
1.2.5          กริยาแท้กับกริยาไม่แท้ (finite vs. non-finite) คำกริยาในภาษาอังกฤษต่างจากภาษาไทยมากในเรื่องการแยกกริยาแท้ออกจากกริยาไม่แท้  คำกริยาในภาษาอังกฤษมีการแยกกริยาแท้เพียงตัวเดียว  ในภาษาไทยไม่มีความแตกต่างระหว่างกริยาแท้กับกริยาไม่แท้

1.3         ชนิดของคำประเภทอื่น
ชนิดของคำประเภทอื่นมีความซับซ้อนน้อยกว่าคำนามและคำกริยา  และไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการแปลมากเท่านามกับกริยา
2.หน่วยสร้างที่ต่างกันในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
            หน่วยสร้าง (construction) หมายถึงหน่วยทางภาษาที่มีโครงสร้าง  เมื่อเปรียบเทียบกับหน่วยสร้างในภาษาไทยและภาษาอังกฤษพบว่ามีหน่วยสร้างที่ต่างกัน  ซึ่งผู้แปลความให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ
2.1 หน่วยสร้างนามวลี : ตัวกำหนด (determiner)+ นาม (อังกฤษ) vs. นาม (ไทย
นามวลีในภาษาอังกฤษต้องมีตัวกำหนด (determiner) อยู่หน้านามเสมอถ้าคำนามนั้นเป็นนามนับได้และเป็นเอกพจน์  ส่วนนามวลีในภาษาไทยไม่มีตัวกำหนด
            2.2 หน่วยสร้างนามวลี : ส่วนขยาย + ส่วนหลัก (อังกฤษ) vs. ส่วนหลัก + ส่วนขยาย (ไทย)
ในหน่วยสร้างนามวลี  ภาษาอังกฤษวางส่วนขยายไว้ข้างหน้าส่วนหลัก  ส่วนภาษาไทยวางตรงกันข้าม
            2.3 หน่วยสร้างกรรมวาจก (passive constructions)
ในภาษาอังกฤษหน่วยสร้างกรรมวาจกมีรูปแบบเด่นชัดและมีแบบเดียว  แต่ในภาษาไทยหน่วยสร้างกรรมวาจกมีหลายรูปแบบ
            2.4 หน่วยสร้างประโยคเน้น subject (อังกฤษ) กับประโยคเน้น topic (ไทย)
ภาษาไทยได้ชื่อว่าเป็นภาษาเน้น topic (topic-oriented language)  ตรงข้ามกับภาษาอังกฤษซึ่งเน้น subject (subject-oriented language)
            2.5 หน่วยสร้างกริยาเรียงในภาษาไทย (serial verb construction)
หน่วยสร้างคำในภาษาไทยที่ไม่มีในภาษาอังกฤษและมักเป็นปัญหาในการแปล  ได้แก่  หน่วยสร้างกริยาเรียง  ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยกริยาตั้งแต่สองคำขึ้นไปเรียงต่อกันโดยไม่มีอะไรคั่นกลาง  ยกเว้นกรรมของกริยาที่มาข้างหน้า



3.สรุป
            3.1 เรื่องชนิดของคำ
ปัญหาเกิดจากการที่ภาษาหนึ่งมีชนิดของคำบางประเภทแต่อีกภาษาไม่มี  ภาษาอังกฤษมีตัวกำหนด,นาม,กริยา,คุณศัพท์,วิเศษณ์,บุพบทและสันธาน  แต่ไม่มีลักษณนามและคำลงท้าย  ส่วนภาษาไทยมีชนิดของคำทุกประเภทเหมือนภาษาอังกฤษ  ยกเว้นคำคุณศัพท์และมีชนิดที่ไม่มีในภาษาอังกฤษ
3.2 เรื่องประเภททางไวยากรณ์
            สำหรับคำนาม ภาษาไทยไม่มีการบ่งชี้ บุรุษ พจน์ การก นับได้-นับไม่ได้ ชี้เฉพาะ  แต่ภาษาอังกฤษมีการบ่งชี้ที่ชัดเจน  สำหรับคำกริยา ภาษาไทยไม่มีการบ่งชี้ กาล มาลา วาจก กริยาแท้-ไม่แท้ แต่ภาษาอังกฤษมีการบ่งชี้ที่ชัดเจน
            3.3 เรื่องหน่วยสร้างหรือรูปประโยค
            นามวลี นามวลีในภาษาอังกฤษมีตัวกำหนดแบบบังคับ  แต่ในภาษาไทยตัวกำหนดจะมีหรือไม่มีก็ได้  การวางส่วนขยายในนามวลี  มีความแตกต่างกันอย่างตรงกันข้ามระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ  หน่วยสร้างกรรมวาจก  ภาษาอังกฤษมีรูปแบบชัดเจน  แต่ในภาษาไทยมีหลายรูปแบบ  และไม่จำเป็นที่จะต้องแปลหน่วยสร้างกรรมวาจกภาษาอังกฤษเป็นกรรมวาจกภาษาไทยเสมอไป  ประโยคเน้นประธานกับประโยคเน้นเรื่อง ประโยคในภาษาอังกฤษต้องมีประธานเสมอ  แต่ประโยคในภาษาไทยไม่จำเป็นต้องมีประธาน  และประโยคส่วนมากมักขึ้นต้นด้วยเรื่อง  หน่วยสร้างกริยาเรียง  มีในภาษาไทยแต่ไม่มีในภาษาอังกฤษ  หากผู้แปลตระหนักในความสำคัญของความแตกต่างทางโครงสร้างในภาษาไทยและภาษาอังกฤษข้างต้น  ผู้แปลจะมีปัญหาในการแปลน้อยลง  และผลงานที่แปลจะใกล้เคียงกับลักษณะภาษาแม่ในภาษาเป้าหมายมากที่สุด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น